Back

จดหมายเปิดผนึก ขอให้พิจารณายกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และรับฟังประชาชน เพื่อแก้ปัญหาโควิด 19

20 May 2020

3548

จดหมายเปิดผนึก  ขอให้พิจารณายกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และรับฟังประชาชน เพื่อแก้ปัญหาโควิด 19

 

 

สถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนในทุกประเทศทั่วโลก และมีผลกระทบต่อสังคมในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ หรือความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชน เหตุการณ์นี้มอบโจทย์ความท้าทายให้แก่ผู้บริหารและประชาชนของแต่ละประเทศว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้อย่างไร โดยไม่ทิ้งผู้ใด หรือคนกลุ่มใดไว้ข้างหลัง โดยที่ผ่านมาองค์กรสหประชาชาติได้ออกคำแนะนำให้แต่ละประเทศมีมาตรการที่สามารถควบคุมการระบาดของโรค และยังเคารพต่อสิทธิมนุษยชนสำหรับกลุ่มคนที่หลากหลาย เพราะพื้นฐานของการก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดนี้อย่างยั่งยืน ภาครัฐต้องเคารพสิทธิของประชาชนและได้รับความร่วมมือที่ดีของประชาชนทุกคน

 

ในประเทศไทยก็ใช้ทั้งมาตรการที่ออกมาควบคุมการใช้ชีวิตและการสร้างความตระหนักให้เกิดในหมู่ประชาชน คณะรัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดมาเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาด โดยรายละเอียดของมาตรการยับยั้งโรคระบาดนั้นจะเป็นไปตามข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ฉบับที่ 1-7 ซึ่งมีข้อจำกัดการใช้พื้นที่ ปิดสถานที่เสี่ยง การห้ามกักตุนสินค้า ห้ามชุมนุมหรือการนำเสนอข่าวต่างๆ อีกทั้งมีคำสั่งห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 23.00 – 04.00 น. ซึ่งจากเดิมเป็นเวลา 22.00 – 04.00 น. ยกเว้นผู้ที่มีความจำเป็น และได้มีการต่ออายุออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้รับเสียงสะท้อนจากสมาชิก และเครือข่ายผู้ที่ทำงานผลักดันประเด็นทางสังคม ถึงผลกระทบและความไม่เหมาะสมของการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรการบางประการ ถึงแม้จะมีการผ่อนมาตรการบางประการในปัจจุบัน แต่ยังไม่ตอบสนองถึงปัญหาของกลุ่มคนที่หลากหลาย อีกทั้งมาตรการเยียวยาต่อสถานการณ์ที่ไม่ทั่วถึง จึงส่งผลให้ผู้คนยิ่งได้รับผลกระทบและความยากลำบากในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

 

1.กลุ่มแรงงาน และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากมีหลายกิจการได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มีรายได้น้อยลงหรือไม่มีเลย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการจ้างงาน ซึ่งนายจ้างบางรายที่อาศัยสถานการณ์ในช่วงนี้ มาขอลดค่าจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือบังคับให้ลาออก มากไปกว่านั้นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นแรงงานที่ตกหล่นจากการที่จะได้รับการเยียวยาจากรัฐ เพราะส่วนมากจะเป็นแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบ อีกทั้งมาตรการภายในประเทศยังมีเงื่อนไขเยียวยาแต่ประชาชนที่มีสัญชาติไทยเพียงเท่านั้น

2.กลุ่มผู้พิการ ในสถานการณ์เช่นนี้มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตมาก เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่สามารถทำได้กับกลุ่มผู้พิการทางการมองเห็น เนื่องจากต้องมีผู้นำทาง เป็นต้น และการประกอบอาชีพที่ส่วนใหญ่จะมีอาชีพหลักเป็นวิทยากร ได้รับผลกระทบจากการห้ามรวมตัว และการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด รวมไปถึงการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการป้องกันโรค ยังไม่มีแพร่หลายเหมาะสมสำหรับผู้พิการเฉพาะแต่ละประเภท

3.กลุ่มเด็ก ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ที่บ้าน เนื่องจากแต่ละบ้านมีความหลากหลาย ความสามารถและองค์ความรู้ของผู้ปกครองในแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการพัฒนาการและการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก  

4.กลุ่มคนไร้บ้าน การกำหนดระยะเวลาห้ามออกจากเคหสถาน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลุ่มคนไร้บ้านไม่มีแหล่งอาศัยถาวร จึงเป็นกลุ่มคนหนึ่งที่ลำบากมากในภาวะเช่นนี้ ทั้งเสี่ยงต่อการติดโรค และเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอีกด้วย เช่น กรณีคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกจับกุมดำเนินคดี เนื่องจากไม่อยู่ในเคหสถานในระยะเวลาที่ถูกสั่งห้าม เป็นต้น

5.กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้จะต้องมีนัดพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามวาระ ซึ่งในภาวะเช่นนี้อาจมีการเลื่อนนัด หรือการเข้าถึงยาก็มีความยากขึ้น เนื่องจากพื้นที่และความล่าช้าในการจัดส่ง ซึ่งรัฐควรจัดมาตรการเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ด้วย เป็นต้น

 

ผลกระทบจากมาตรการของรัฐที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ไวรัสระบาด แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรังอยู่ในสังคมไทย และไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานาน ซึ่งในภาวะวิกฤตินี้ประกอบกับมาตรการของภาครัฐจึงเป็นตัวขยายภาพของปัญหาดังกล่าวให้ชัดขึ้น นอกจากนี้ การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีผลเป็นการปิดกั้นการแสดงออกในประเด็นต่างๆ ของประชาชน ไม่ใช่แค่เพียงในประเด็นของสถานการณ์โรคระบาด เนื่องจากมีมาตรการห้ามจัดกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการชุมนุม ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และมีส่วนสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลล่วงรู้ถึงปัญหาที่สะท้อนจากประชาชน และนำไปแก้ไขเพื่อการพัฒนาของประเทศต่อไป รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีปัญหาของเจ้าหน้าที่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ เช่น กรณีอาสาสมัคร อ.จะนะ จ.สงขลา จับชาวประมงฝ่าฝืนประกาศเคอร์ฟิว ทั้งที่มีข้อกำหนดยกเว้นอาชีพประมงไว้แล้ว เป็นต้น ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการของรัฐที่ปราศจากความรอบคอบและไม่คำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่ม

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรและรายชื่อข้างท้าย จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและทั่วถึง และผลักดันการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและสมบูรณ์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

          1. ขอให้ทบทวนเพื่อยุติการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อห้ามออกนอกเคหสถาน และใช้กฎหมายในสถานการณ์ปกติเป็นหลัก เช่น พระราชบัญญัติควบคุมโรค พ.ศ.2558 เนื่องจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุล ซึ่งเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินจำเป็น ไม่ได้สัดส่วนกับความจำเป็นเพื่อป้องกันโรคในปัจจุบัน

          2. ขอให้การกำหนดมาตรการของภาครัฐสำหรับการควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาด โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และเคารพต่อสิทธิของประชาชน โดยให้เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด พร้อมใช้โอกาสนี้สำรวจปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และพัฒนาผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เช่น การผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

     3. ขอให้ภาครัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มบุคคลที่หลากหลายให้มากที่สุดตามข้อจำกัดของสถานการณ์ และสร้างช่องทางการรับฟังเสียงจากประชาชนโดยตรง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ การพิจารณาและตัดสินใจโดยคนกลุ่มเดียวเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นย่อมไม่ใช่ทางแก้ไขที่จะนำไปสู่ทางออกที่ถูกต้อง

 

                                                   ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชน

                                                                        ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2563

 

รายชื่อองค์กร

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์  (Empower Foundation)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)

ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดเชียงใหม่

คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนบน

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (Foundation for AIDS Rights)

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We Fair)

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney centre foundation)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

 

รายชื่อบุคคล

ส.รัตนมณี  พลกล้า        ทนายความ

ปสุตา ชื้นขจร               ทนายความ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ     นักกฎหมาย

สุมิตรชัย หัตถสาร         ทนายความ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู    ทนายความ

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ          นักกฎหมาย

นฤมล กาญวงศา

ศราวุฒิ ประทุมราช        นักกฎหมาย

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112