22 June 2016
2823
ขณะถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานีมีนัดไต่สวนคำร้องคดีชันสูตรพลิกศพครั้งที่สอง (ไต่สวนการตาย) คดีหมายเลขดำที่ ช.6/2559 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ร้อง และ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ ผู้ตาย โดยวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดไต่สวนคำร้องคดีชันสูตรพลิกศพนัดแรก ญาติแถลงต่อศาลว่าต้องการแต่งทนายความฝ่ายญาติมาเข้าร่วมแสวงหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของนายอับดุลลายิบ ดอเลาะ ภรรยาผู้เสียชีวิต นางสาวกูรอสเมาะ ตูแวบือซาได้แต่งตั้งทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ปัตตานี ขอเข้าเป็นผู้ร้องคัดค้านต่อศาล และขอเลื่อนการไต่สวนออกไปเพื่อขอเตรียมข้อมูลในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการตาย โดยศาลอนุญาต ขอเชิญสื่อมวลชนหรือผู้สนใจเข้าฟังการพิจารณาคดีของศาลได้ตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี โทร ๐๘๑-๘๙๘๗๔๐๐๘ นายปรีดา นาคผิว ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร ๐๘๙-๒๖๒๒๒๔๗๔ ................................................... หมายเหตุ : ข้อมูลเบื้องต้น นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ อายุ 45 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านใหม่ ต. คอลอตันหยง อ. หนองจิก จังหวัดปัตตานีถูกควบคุมตัว เมื่อประมาณตีหนึ่งครึ่งของวันที่ 11 ตุลาคม 2558 ด้วยเจ้าหน้าที่กว่า 100 นายที่บ้านพักที่ตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ที่มาจับกุมมีการปิดบังใบหน้าทำให้ครอบครัวและญาติเกิดความหวาดกลัว และถูกควบคุมตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว 25 วันที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ( ค่ายบ่อทอง ที่ชาวบ้านเรียกกัน ) ญาติได้เดินทางไปเยี่ยมนายอับดุลลายิบทุกวัน แต่มักได้รับการอนุญาตให้เยี่ยมเพียงระยะเวลาสั้นๆ และไม่สามารถคุยกันได้มากนัก ภรรยาสังเกตว่าสามีของตนมีความเครียดและบอกแต่เพียงว่าสามีเครียด กลัว ไม่มีร่องรอยบาดแผลที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะเจ้าหน้าที่สอบสวนเวลากลางคืน และมีการบังคับให้รับสารภาพแต่สามีไม่ได้กระทำจึงไม่ได้รับสารภาพ จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เวลา 7.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่มาที่บ้านมารับตัวไปค่ายอิงคยุทธ์ฯ พร้อมผู้ใหญ่บ้าน และเมื่อไปถึงที่ค่ายฯ ผู้ใหญ่บ้านกระซิบบอกว่า สามีของตนเสียชีวิตแล้ว ต่อมาได้มีการส่งศพไปตรวจชันสูตรโดยไม่ได้มีการผ่าศพที่โรงพยาบาลที่หาดใหญ่ เพื่อหาความยุติธรรม โดยมีการขออนุญาตตรวจดีเอ็นเอในน้ำลาย คราบอสุจิ คราบเลือด และเก็บน้ำในตา เพื่อตรวจสารพิษที่ตกค้าง ในระหว่างการตรวจศพฯ พบกว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาพูดและโต้เถียงกับนายแพทย์ที่ทำการตรวจเป็นระยะ ในวันเดียวกันได้นำร่างของสามีประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยไม่ได้อนุญาตให้มีการผ่าชันสูตรศพ อีกทั้งหลังจากการเสียชีวิตสองวันมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวโดย กอรมน. แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนระดับจังหวัดเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการ แต่ญาติก็ยังต้องการหน่วยงานกลางไว้ใจและเชื่อมั่นได้เข้ามาตรวจสอบ ต่อมาภรรยาของนายอับดุลลายิบได้ทำหนังสือขอให้องค์การสหประชาชาติเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม