6 October 2016
1044
จากกรณีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี (อบจ.) ได้มีโครงการพัฒนาพื้นที่หนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงที่รกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้เป็นลานกิจกรรมวัฒนธรรม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแลนด์มาร์กของจังหวัด รวมทั้งเป็นแหล่งรับรองน้ำจากภายนอกที่ไหลเข้าและเพิ่มการกักเก็บน้ำ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบัน อบจ. กำลังดำเนินการยื่นหนังสือขอถอนสภาพและขออนุญาตใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์หนองแด (ในอดีตหนองแดมีพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่ ปัจจุบันถูกรุกล้ำเหลือเพียง 938ไร่) และโครงการพัฒนาขุดลอกหนองแด จำนวน400ไร่ ใช้งบประมาณเกือบ80 ล้านบาท ลักษณะทางกายภาพของหนองแดเป็นแอ่งน้ำแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำจากทางด้านทิศเหนือของตัวเมืองอุดรธานี ก่อนไหลผ่านลำน้ำห้วยหลวงบริเวณฝายน้ำล้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมและเป็นแหล่งน้ำดิบใช้ในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านจำนวน 4,422 ราย แบ่งเป็น 1) การใช้น้ำในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี จำนวน 450 ราย 2) ประชากร 4 หมู่บ้าน 1,010 ครัวเรือน (ประปาชุมชน/ใต้ดิน) จำนวน 3,594 ราย และ 3) กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการจับปลาและหาอาหารตามธรรมชาติ ทอเสื่อ ต้มเกลือ การทำเกษตรกรรม จำนวน 378 ราย การขุดลอกหนองแด เพื่อนำดินไปถมพื้นน้ำให้เป็นดิน 400 ไร่ เพื่อสร้างลานกิจกรรมต่างๆ ตามที่ระบุในแบบแปลนลึก 4 เมตร ไม่ได้เพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ รวมทั้งการทำคันดินและถนนรอบหนองแด จะทำให้น้ำที่ไหลจากชุมชนและตัวเมืองไม่มีที่ลง จะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมขังชุมชนโดยรอบเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นนอกจากนี้การขุดลอกลึกเกิน 3.5 เมตร จะทำให้ดินเค็มด้านล่าง แพร่กระจายขึ้นมากระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย พวกเราในนามเครือข่ายองค์กรประชาชนลุ่มน้ำห้วยหลวงจังหวัดอุดรธานี ดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ ขอแถลงจุดยืนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำและกลุ่มประชาชนที่อาศัยรอบพื้นที่หนองแด และขอเรียกร้องให้ อบจ.อุดรธานี พิจารณาทบทวนโครงการ และชะลอการขุดลอกพื้นที่ชุมน้ำหนองแด พร้อมทั้งให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมน้ำหนองแดต่อสาธารณชนทั้งนี้ พวกเราไม่ใช่ “ผู้ต่อต้าน” แต่เป็นกลุ่มนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่มายาวนานจนได้ข้อมูล และองค์ความรู้อันสำคัญของชุมชนนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่อการพัฒนาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ พวกเราไม่ใช่ “ผู้ขัดขวาง” การพัฒนาแต่การพัฒนาจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คนอุดรธานีอย่างแท้จริง... ด้วยความเคารพในมนุษย์และธรรมชาติ ..5 ตุลาคม 2559.. รายชื่อกลุ่ม/องค์กรแนบท้ายแถลงการณ์ - กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี - กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า จ.อุดรธานี - กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา - กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศอ่างน้ำพาน - กลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้า ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี - กลุ่มอนุรักษ์หนองแด - กลุ่มเพื่อประชาชนกุดจับ - กลุ่มชาวนาบล็อกน้อย (อ่างน้ำพาน) - กลุ่มรักษ์นาแอง-ศรีชมชื่น - กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง จ.อุดรธานี - กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านไทสวรรค์ ต.สร้างคอม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี - กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา - ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน