Back

การต่อต้านขัดขืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

24 June 2020

1248

การต่อต้านขัดขืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

 

การต่อต้านขัดขืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

โดยเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

          ให้หลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือโรคโควิด 19  ได้ 6 วัน  ในวันที่ 31 มีนาคม 2563  กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองหินปูนที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู มาอย่างยาวนาน  ก็ได้ออกมาอ่านแถลงการณ์แบบเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing)  ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19  ที่หน้าเหมือง  โดยมีชื่อแถลงการณ์ว่า ‘หยุดเหมืองหินปูนดงมะไฟ  หยุดละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน’

          เนื้อหารายละเอียดของแถลงการณ์ดังกล่าว  มีดังนี้ 

          “เนื่องด้วยปัจจุบันบ้านเมืองเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19  ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตผู้ได้รับเชื้อ  ประกอบกับในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหรือยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง  จึงส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคไวรัสโควิด 19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  โดยมีข้อกำหนดข้อหนึ่งที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563  เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด 19 ในบ้านเมืองเรา  นั้น
          “พวกเราในนาม ‘กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได’  ซึ่งเป็นประชาชนของบ้านเมืองนี้ที่ต้องทำการถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อย่างเคร่งครัด  ที่สำคัญยังเป็นกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินของบริษัท ธ. ศิลาสิทธิ จำกัด  เนื้อที่กว่า 175 ไร่  บนภูผาฮวก  ตามประทานบัตรเลขที่ 27221/15393  ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ดังกล่าวโดยตรง  ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อวิถีชีวิต  สุขภาพ  พืชผลทางการเกษตร  การคมนาคม  ระบบนิเวศน์  และยังต้องสูญเสียพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างถาวร

          “การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นการบีบบังคับให้พวกเราไม่สามารถออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการคัดค้านการทำเหมืองแร่ดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้  จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ธ. ศิลาสิทธิ จำกัด สามารถทำเหมืองแร่หินปูนโดยระเบิดภูเขา  ทุบย่อยหิน  ขนส่งหินจากพื้นที่ข้ามจังหวัดได้  ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคไวรัสโควิด 19  ที่มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น  เพื่อให้เป็นการบังคับใช้หรือปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาครัฐต้องมีคำสั่งให้ บริษัท ธ. ศิลาสิทธิ จำกัด หยุดดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินด้วยเช่นกัน
          “มิเช่นนั้น  กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได  จำเป็นต้องกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  ด้วยการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อปิดเหมืองด้วยตนเอง  มิใช่นิ่งเฉยเพื่อให้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กระทำการฝ่าฝืนสิทธิและเสรีภาพของเราอีกต่อไป”

          ต้องถือว่าเป็นแถลงการณ์ที่ค่อนข้างก้าวหน้าของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลพื้นที่หนึ่ง  ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ยังไม่ลุกขึ้นมาแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  แต่ประชาชนในตำบลดงมะไฟที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่มาอย่างยาวนานได้ลุกขึ้นมาแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  โดยไม่เกรงกลัวคำข่มขู่คุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดี 

          เพราะเพียงแค่ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไป 6 วัน  กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดก็เริ่มเห็นว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีปัญหาอย่างมากต่อการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

          ต่อจากนั้นก็มีการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น 

          มีการรับลูกกันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ฯกับเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่  จนเป็นที่มาของแคมเปญและออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563  ในชื่อว่า  ‘ล็อคดาวน์เหมืองแร่  หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง’  โดยมีเนื้อหารายละเอียด  ดังนี้

          “ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19  ที่มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งยังมีผู้ที่ต้องกักตัวเฝ้าสังเกตอาการอีกเป็นจำนวนมาก  ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน  ยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ย่ำแย่ลงทุกวัน  ถึงแม้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19
          “แต่การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยที่ไม่มีแผนรองรับที่ดี  ยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนให้เดือดร้อนทุกข์ยากแสนสาหัสมากขึ้น  ซึ่งเป็นการขยายปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจให้กว้างขึ้น  โดยจะเห็นได้ว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยิ่งนานก็ยิ่งส่งผลให้ประชาชนสูญเสียรายได้  ไร้อาชีพ  สร้างความเหลื่อมล้ำ  มีคนตกงานหลายล้านคน  ประชาชนคนเล็กคนน้อยต้องเข้าแถวรอรับบริจาคอาหารและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน
          “นอกจากนี้เงินเยียวยาจากรัฐบาลกลับมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถ้วนหน้า  และหลายคนไม่มีทางออกจึงเลือกฆ่าตัวตาย  ซึ่งมากถึง 38 ราย  หรือครึ่งหนึ่งของการตายจากเชื้อไวรัสโควิด-19  โดยภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  ซึ่งมีข้อกำหนดข้อหนึ่งในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน  โดยการห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม - 30 เมษายน 2563  เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทย  และมีแนวโน้มว่านายกรัฐมนตรีจะต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน  นั้น

          “พวกเราประชาชนในนาม ‘เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่’  ซึ่งเป็นประชาชนของประเทศ  เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน  และผู้ได้รับผลกระทบจากการสำรวจและการทำเหมืองแร่โดยตรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย  ซึ่งได้ดำเนินการในการเฝ้าจับตา  ติดตาม  และตรวจสอบการดำเนินนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดตลอดมา  เห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการออกมาใช้สิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน  และเป็นการจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต  ชุมชน  และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งไม่สามารถออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกต่อโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในการสำรวจและการทำเหมืองแร่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังเช่นสถานการณ์ปกติได้

          “แต่ในขณะเดียวกันนั้นกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นเป็นปกติ  ซึ่งกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เป็นการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนในพื้นที่  ยิ่งทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม  และเป็นการละเลยต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน  ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติโดยชอบธรรมนั้น

          “ดังนั้น  เพื่อให้เกิดการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม  พวกเราในนาม ‘เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่’  จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้

          “1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องหยุดกระบวนการพิจารณาด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้กับโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทุกประเภทเอาไว้ก่อน  จนกว่าจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเป็นปกติ
          “2. กรณีที่ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ที่ได้รับการอนุมัติ/อนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ไปแล้วนั้น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน  เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม  และไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จากการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ชุมชนของผู้ประกอบการ
          “3. กรณีที่ผู้ประกอบการมีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่จากการสำรวจและทำเหมืองแร่  รวมทั้งมีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน  เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19  และต้องต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน  ไม่เพียงเท่านั้นยังถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อีกด้วย”

 

          นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ที่ทำการต่อต้านขัดขืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในเดือนเมษายน 2563  ซึ่งยังมีการต่อต้านขัดขืนอีกในหลายพื้นที่  มากไปกว่าเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ด้วย  โดยที่รายงานสังคมและการเมืองฉบับนี้ไม่ได้หยิบจับมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้.

 

 

 

 

 

- อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อมนุษยชาติ -

 

แรม 1 ค่ำ ดวงจันทร์กลมสีส้มสุก
ผ่อนคลายทุกข์ใจบ้างในคืนเหงา
ต้องกักตัวอยู่กับบ้านอีกนานเนาว์
โควิด 19 จะอยู่กับเรา.. อีกยาวไกล

 

จง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ"
รัฐประกาศหยุดระบาดให้จงได้
แต่ประชาอยู่กับภาวะยากไร้
ไม่มีเงินยาไส้, ไม่พอกิน

 

เจลล้างมือกับหน้ากากหาไม่ได้
ถูกเก็บกักตุนไว้หมดสิ้น
นำมาปล่อยขายแพงแก๊งกังฉิน
รัฐบาลไม่ได้ยินว่าโก่งราคา

 

เราไม่หยุดอยู่บ้านเพื่อชาติหรอก
ไม่ทนฟังคำกลับกลอกรัฐชั่วช้า
แต่อยู่เพื่อมนุษยชาติ.. นะจ๊ะ
น่าคบหากว่าผีห่าผู้ปกครอง.

 

บทกวีต่อต้านขัดขืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  โดยกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได 

เผยแพร่อยู่ในเฟซบุ๊กเพจ ‘เหมืองแร่หนองบัว’ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563

(รายงานสังคมและการเมืองได้ทำการดัดแปลงบทกวีบางส่วนไปจากต้นฉบับเดิม)

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112