Back

มนุษย์ที่ถูกกดขี่ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ จะเป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพดีได้อย่างไร

24 June 2020

1466

มนุษย์ที่ถูกกดขี่ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ  จะเป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพดีได้อย่างไร

 

 

          การต่อต้านขัดขืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  ได้มีการขยายตัวในวงกว้างขึ้น  มีการแสดงออกจากภาคประชาชนหลายกลุ่ม/องค์กร/เครือข่ายที่ลุกขึ้นมาต่อต้านขัดขืนการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในทุกภูมิภาค  หนึ่งในนั้นคือเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค  ได้นำรายชื่อกลุ่ม/องค์กร/บุคคลรวม 390 รายชื่อ  ยื่นจดหมายถึงคณะรัฐมนตรีและผู้ตรวจการแผ่นดิน  ในวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา  เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินควบคุมโรคโควิด 19 

          ด้วยเห็นว่าการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกไปอีกจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  จะเกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน  และเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากเกินความจำเป็น  และสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจอย่างคลุมเครือไปในทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคระบาด   ในเมื่อขณะนี้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากแล้ว  และการบังคับใช้กฎหมายปกติ  เช่น  พระราชบัญญัติโรคติดต่อ  และกฎหมายคนเข้าเมือง  ก็ให้อำนาจกำหนดมาตรการที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้  จึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกแต่อย่างใด
          โดยในส่วนเนื้อหาของจดหมายที่ยื่นถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน  เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  และการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19  และขอให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจขยายระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในมาตรา 26  มีดังนี้

          “ตามที่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)  ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563  เพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคติดต่อโควิด  19  เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563  และได้มีประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน 2563  ให้ขยายไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563  โดยในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการออกข้อกำหนดโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  มาตรา 9 หลายฉบับ  เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาด  อันรวมถึงมาตรการให้ปิดสถานที่  ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน  ห้ามการชุมนุม  มีข้อกำหนดเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเข้มงวด 

          “ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก  แต่ปรากฏว่าวันนี้ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกลับยังคงมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)  และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือนจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

          “เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค  เห็นว่า  การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและดำเนินการตามข้อกำหนดข้างต้น  แม้จะมีผลในการยับยั้งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างเร่งด่วนในระยะแรก  แต่โดยที่ขณะนี้สถิติของผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับจนแทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว  อันแสดงให้เห็นว่าการรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศไทยนั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินในระดับที่จะไม่สามารถควบคุมโรคได้อีก  

          “และที่สำคัญ  รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่  โดยเฉพาะพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558  ที่ให้อำนาจไว้อย่างครอบคลุม  และเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในการควบคุมโรคติดต่อ  ควบคู่กับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง  และการประสานความร่วมมือกับประชาชน  ก็เป็นแนวทางในการควบคุมสถานการณ์โรคติดต่อนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

          “รวมถึงยังมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่สามารถบังคับใช้ประกอบกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้  โดยไม่จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  เช่น  พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง  พระราชบัญญัติการเดินอากาศ  พระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์  และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ  เป็นต้น  ซึ่งเป็นสามกฎหมายที่รัฐบาลและหน่วยงานได้นำมาบังคับใช้ในการประกาศกำหนดมาตรการและให้อำนาจแก่หน่วยงานเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันอยู่แล้ว  

          “และเนื่องจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง  เป็นรูปแบบการใช้อำนาจที่คลุมเครือ  ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ  ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหาร  และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจทางอาญาได้โดยมีบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  และตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลปกครอง  รัฐจึงต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ด้วยความระมัดระวังและจำกัดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

          “แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขณะนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  รัฐบาล  เจ้าหน้าที่รัฐ  และหน่วยงานด้านความมั่นคง  กำลังอ้างใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปในทางการจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน  โดยมิได้มีนัยยะเกี่ยวข้องกับการป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด  19 แต่อย่างใด  ทั้งการปฏิบัติการระดับพื้นที่  เช่น  กรณีการจับกุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่จากการกิจกรรมสื่อสารต่อสาธารณะในพื้นที่บำเหน็จณรงค์  จังหวัดชัยภูมิ  กรณีการยับยั้งการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนในการคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงาม  จ.สงขลา  กรณีการข่มขู่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ไปยื่นร้องเรียนต่อสภามหาวิทยาลัยขอให้มีการลดค่าเทอมลง  การสกัดกั้น และดำเนินคดีประชาชนที่จัดกิจกรรมเนื่องในวันครบรอบ 6 ปีรัฐประหาร โดยอ้าง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  การปฏิบัติการตามนโยบายทวงคืนผืนป่า  ทั้งการตรวจยึดพื้นที่  ไถทำลายผลอาสิน  และฟ้องดำเนินคดี  

          “รวมถึงความพยายามในการผลักดันนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนในห้วงเวลาที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกได้ตามปกติ  เช่น  กรณีการเข้าร่วมกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP)  และการเร่งรัดจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ  อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา  เป็นต้น  

          “นอกจากนี้  การออกข้อกำหนดภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับต่าง ๆ ที่ผ่านมา  ยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ  รายได้  และโอกาสในการประกอบอาชีพโดยปกติของทุกผู้คนในสังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน  ผู้ใช้แรงงาน  และผู้ประกอบการอิสระในระดับเล็กและระดับกลาง  ในขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่กลับยังสามารถดำเนินโครงการเพื่อใช้ทรัพยากรและแสวงหาผลประโยชน์ท่ามกลางความยากลำบากแร้นแค้นของคนส่วนใหญ่ในสังคม  ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ  และจุดยืนของรัฐบาลในการบริหารประเทศอย่างชัดเจน

          “ผู้ร้องในนามเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค  และภาคประชาชนดังมีรายชื่อแนบท้าย  จึงเห็นว่า  การขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกไปอีกจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  จะเกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน  และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากเกินความจำเป็น  และสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจอย่างคลุมเครือไปในทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคระบาด  อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  มาตรา 26 ที่บัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้  กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม  ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ  และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้  รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”  เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน  เป็นภาระแก่ประชาชน  และเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ  ซึ่งหลักความพอสมควรแก่เหตุตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นย่อมมีผลบังคับใช้กับการอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายออกกฎ  คำสั่งทางปกครอง  หรือกระทำการใด ๆ ที่มีผลเป็นการจำกัดหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ยิ่งต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุด้วยเช่นกัน

          “ด้วยเหตุดังกล่าว  จึงมีคำขอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  ดังนี้  

          “1. ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560  มาตรา 22  เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  ให้ยกเลิกและไม่ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  และการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด19

          “2. ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  มาตรา 213  ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  การกระทำของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  ที่ใช้อำนาจขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  มาตรา 26”

 

          สองวันต่อมา  ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563  เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่  ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรของเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค  ได้มีการแสดงออกในหลายพื้นที่เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค  ที่เรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  หนึ่งในนั้นคือ ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน’ ต.นาหนองบง  อ.วังสะพุง  จ.เลย  ที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย  จนสามารถยกเลิกการทำเหมืองทองคำ  และกำลังผลักดันให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการฟื้นฟูเหมืองตามคำพิพากษา  ได้ออกแถลงการณ์อย่างกระชับสั้นเพื่อร่วมสนับสนุนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค  โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญที่น่าสนใจ  ดังนี้

          “แถลงการณ์  มนุษย์ที่ถูกกดขี่ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ  จะเป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพดีไปได้อย่างไร

          “เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่  กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน  ที่ต่อสู้กับเหมืองทองคำจังหวัดเลย  จนสามารถยกเลิกการทำเหมืองได้  และกำลังผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูเหมืองอยู่ในขณะนี้  ขอร่วมสนับสนุน 'เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค' ที่กำลังรณรงค์ให้มีการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  โดยใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ก็เพียงพอแล้ว

          “พวกเราเห็นว่ามนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์  มาตรการของรัฐบาลที่ต้องการให้ 'สุขภาพนำเสรีภาพ'  โดยทำการละเมิดและลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเพื่อชุมนุมและแสดงความคิดเห็น  เพื่อต้องการควบคุมโรคโควิด 19 ให้เด็ดขาดนั้น  เป็นมาตรการที่ขาดความเข้าในความเป็นมนุษย์อย่างถ่องแท้

          “เนื่องจากมนุษย์ที่มีสุขภาพดี  แต่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ  จะเป็นมนุษย์ที่ไร้ซึ่งความสุข  เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งที่เป็นบ่อเกิดของโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย

          “ดังนั้น  การลิดรอนและละเมิดสิทธิและเสรีภาพ  ตัดขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาบ้านเมือง  ด้วยการที่รัฐบาลต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือน  จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้  จึงขอคัดค้านมา ณ ที่นี้”.

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112