Back

เราจะแก่เฒ่าแบบไหนกัน...

17 September 2021

1238

เราจะแก่เฒ่าแบบไหนกัน...



มันเป็นเรื่องที่ผมมักครุ่นคิดเงียบๆ มาร่วม 10 ปีแล้ว ว่าเราจะแก่เฒ่าแบบไหนกัน แก่เพราะสะสมอายุได้มาก หรือ แก่แบบรู้รัตติกาล หมายถึง รู้จัก เข้าใจชีวิต เข้าใจโลกพอสมควร หมายถึงเข้าใจสังคม วัฒนธรรม ทั้งของตัวเองและของคนอื่น  และเข้าใจตัวเอง รู้กาละ เทศะ อัตนะ แล้วรู้แค่ไหน ถึงเหมาะสมดีงาม คงตอบยาก แต่สำหรับผม แค่พอจัดวาง ตำแหน่งหน อารมณ์ กริยา ท่าที การปฏิบัติ ฯลฯ ของตัวเอง

เมื่อปีที่แล้ว ผมทะเลาะกับแม่ หนักมาก จริงๆ ก็หนักใส่กันบ่อยๆ ตั้งแต่จำความได้ นั่นแหละ เป็นวัฒนธรรมครอบครัวนี้ บางเวลาเราจัดกันหนักๆ แรงๆ เพื่อไม่ให้เลยเถิดเกินขอบเขต แม่ผมก็เหมือน ผู้หญิงบ้านป่า ที่ถูกอบรม ถูกสอนสั่งมา ตามแบบคนบ้านนอก ไม่ได้ร่ำเรียน เห็นโลกกว้าง โตมากับการทำงานหนัก ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทำงานในไร่ทัดเทียมผู้ชาย เป็นแม่ศรีเรือน เป็นเมีย ที่เคร่งครัดและเป็นแม่ที่เลี้ยงลูก ความคิดของนางจึงไม่แตกต่างคนอื่นๆ คือ มองอะไรเป็นดำ กับ ขาว เป็นถูกกับผิด ได้กับไม่ได้ และเกรี้ยวกราดกับอะไรก็ตามที่บิดเบี้ยว ไม่ถูกต้อง ตามแบบตามแผน จารีต ความดี ความงาม ความเชื่อ ฯลฯ

แม่ผม นางทะเลาะกับทุกอย่างจริงๆ นางกราดเกรี้ยว จนหลายครั้งควบคุมตัวเองไม่ได้ หยุดไม่ได้ ทำให้ผมเติบโตมีภูมิต้านทาน เวลาปะทะกับคนมาแต่เด็กๆ  ผมโชคดีที่เรียนมหาลัย แล้วก็ได้ทำงาน เดินทาง  มันทำให้ผมได้อ่าน ได้ฟัง ได้พบ ได้เห็น ได้ค้นคว้า ขบคิด หาคำตอบ ความเป็นชีวิต ความเป็นสังคม ผมจึงเข้าใจ ว่า คนเราไม่ได้เกิดมาแล้วมีประสบการณ์เป็นเมียมาก่อน เป็นแม่ เป็นยาย หรือ มีประสบการณ์เป็นหญิงชราอายุ
70 ปี หรือ มีลูกชายอายุ 45 ปี มาก่อน บางครั้ง นางไม่รู้ว่า เมื่อ อายุ 30 พูดจากับลูกแบบไหนได้ เมื่ออายุ 50 พูดจากับลูกแบบไหนได้ และถ้า 70 ซึ่งลูก อายุ 45 แล้ว แม่ควรพูดจาอย่างไร

หลายคนอาจจะอธิบาย “เขาเป็นแม่ เขารักเราเขาห่วงเรา ปล่อยไปเถอะ”   วิธีคิดแบบนี้ กับแม่ ก็คล้ายๆ กับวิธีคิดที่คนไทยมีต่อฝ่ายปกครอง หรือ ผู้บริหารประเทศ เราไม่ได้พยายามทำให้คนที่ผ่านรัตติกาลมาก่อน เข้าใจฐานะตนเองใหม่ เรื่อยๆ ว่าอยู่ตรงไหน บนเส้นทางกาลเวลาชีวิต ของเรา ของลูกหลาน ของชุมชน สังคม เราจะรู้สึกอย่างไร พูดอย่างไร แสดงออกอย่างไร เพื่อรักษาไว้ซึ่งความงดงามเหมาะสม ตามฐานะ ตามวัย


2-3 ปี ที่ผ่านมา ผมทะเลาะกับแม่ ด้วยพูดคำหนึ่ง ให้นางฟังบ่อยๆ คือ ให้อยู่เพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูก อยู่ให้ลูกร่มเย็น ให้ลูกร่มรื่น มีพลังชีวิต อย่าไปทำตัวชั่วช้า นินทา ด่าลูก เหมือนบ้านอื่นๆ ที่ได้ยินได้เห็นทุกวี่วัน

ต้นโพธิ์ กับ ต้นไทร เป็นต้นไม้ที่ใบหน้าทึบ ติดกิ่งนาน และกิ่งแผ่ใหญ่มาก  ทำให้เกิดความร่มรื่น เย็นสบายทั้งปี คนจึงเปรียบให้คนชราหรือบุพการี เป็นดั่งร่มโพธ์ร่มไทร หมายถึง เป็นความร่มเย็น ให้ลูกๆ หลานๆ ได้พิงพัก อาศัย ให้สติ ให้ปัญญา ให้คำตอบต่อฐานะบทบาท ความเข้าใจ เกี่ยวกับการมีชีวิต เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สมัครสมานสามัคคีของลูกหลาน คุณค่าที่แท้ของความชราคือการผ่านโลกมายาวนาน เคยได้เคยมีและปล่อยวาง ยกมอบทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน เหลือเพียงเพิงพักเล็กๆ ดำรงเวลาที่เหลือ โดยไม่ยินดียินร้ายไม่ยึดติด เพราะสังขารเรียกคืนธรรมชาติ หูเริ่มไม่ได้ยิน กินไม่อร่อย และ ตามองไม่เห็น มีแค่จิตที่สงบ ปัญญาที่สว่าง และแววตา อาทร ห่วงใย เวลามองลูกหลาน

การอยู่ให้อายุยืน มันง่าย แต่การแก่เฒ่าให้ล้ำค่า ทำให้กาลเวลา เหมือนเครื่องเจียระไน ยิ่งนานยิ่งวับวาว เปล่งประกาย ดีงาม นั้นยาก ยิ่งบางคน วัดไม่เข้า สังคมไม่ยุ่ง ธรรมมะ ไม่อ่าน โลกกว้างไม่มอง เรื่องราวต่างๆรอบตัว เตือนสติเตือนใจได้ก็ ไม่คิด ไม่ตกผลึก ก็ยิ่งเป็นคนแก่ที่อุดมไปด้วย กิเลส ราคะ มากไปด้วยเพลิงความโกรธ ความริษยาอิจฉา ยึดมั่นถือมั่น กราดเกรี้ยว ก้าวร้าว ใส่ลูกหลาน ใส่คนผู้อ่อนเยาว์ อยากได้อยากมี เป็นคนแก่ที่ชั่ว และ เป็นร่มไม้ที่ไร้ใบ มีแต่ความร้อน ความทุกข์ ความชิงชัง ใส่ลูกหลาน

จากเหตุการณ์ “ขี้ปากชั่วช้าของชาวบ้าน” ทำให้คนดีๆ คนยากจนคนหนึ่ง ต้องเลิกมาทำงาน ซึ่งอีกไม่นานผมก็เลื่อนชั้นขึ้นเป็นพนักงานของบริษัท มีเงินเดือนสวัสดิการมั่นคง  เป็นภารกิจต่อชีวิตคนอื่น ที่ผมภูมิใจมาตลอด ต้องมาพังลง เพราะปากชั่วๆ จิตใจชั่วๆ ของคน ที่แก่ ซะเปล่า
!!!

.

อย่าลืมนะครับ เมื่อวัยของคุณ เดินทางผ่านครึ่งของชีวิตแล้ว ควรพินิจตน ขัดเกลา เพื่อให้ความดีงามกับกาลเวลา เดินทางไปด้วยกัน... จะได้ไม่ถูกเด็กด่า ว่า แก่เพราะข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน   อิๆๆๆ

 

 

 

โดย เกษตรกร ขบถ แห่งไร่ทวนลม
 

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112