Back

‘แอมเนสตี้’ จับมือ ‘บิว ณัฏฐา’ ชวนระดมทุน-แบ่งปันอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19   มอบให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิและเรือนจำ 

1 October 2021

948

‘แอมเนสตี้’ จับมือ ‘บิว ณัฏฐา’ ชวนระดมทุน-แบ่งปันอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19    มอบให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิและเรือนจำ 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยร่วมมือ บิว ณัฏฐา ทองแก้ว Miss Face of Humanity Thailand 2021 ชวนระดมทุนและร่วมแบ่งปันหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เครื่องวัดอุณหภูมิ และเจลแอลกอฮอล์มอบให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ “มานิ” ในจังหวัดสตูล ตรังและพัทลุง และเรือนจำ 7 แห่งทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดในแคมเปญ “ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”  โดย บิว ณัฏฐา ยังได้สร้างแคมเปญรณรงค์เรียกร้องให้สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง สตูลและตรัง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาดไทยจากส่วนกลาง “อย่าทอดทิ้งกลุ่มชาติพันธุ์มานิในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19” 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า จากการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของกลุ่มเปราะบางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิ (MANI ETHNIC GROUP) มีความหวาดระแวงและหวาดกลัว เพราะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าโรคโควิดคืออะไร ทั้งยังขาดข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เนื่องจากไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้ และหน่วยงานภาครัฐยังเข้าไปดูแลไม่ทั่วถึง ทั้งเรื่องการให้การรักษาพยาบาลและการฉีดวัคซีน รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวจากโรคระบาดและมาตรการชดเชยเยียวยาเนื่องจากเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ตกหล่นในการรับสัญชาติไทย บางส่วนยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน 

ส่วนผู้ต้องขังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือด้านสุขภาพต่างๆ เกิดการแพร่ระบาดในเรือนจำอย่างกว้างขวาง ประกอบกับการเข้าไม่ถึงวัคซีนที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำกว่า 68,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 150 คน  

“ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ระบุไว้ว่า “Nobody is safe until everyone is safe จะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนปลอดภัย” และเป้าหมายของรัฐบาลไทยคือทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนตามความสมัครใจนั้น แอมเนสตี้ได้เรียกร้องทางการไทยมาโดยตลอดว่าต้องดำเนินมาตรการที่ให้บุคคลทุกคนเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและเร่งด่วน โดยแผนการจัดสรรวัคซีนควรดำเนินการอย่างโปร่งใส คำนึงถึงหลักการด้านสุขภาพและความจำเป็นในการป้องกันการควบคุมโรคติดต่อ พร้อมกับรับรองสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขโดยถ้วนหน้า การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สัญชาติ หรือสถานะทางสังคมจากการให้บริการดังกล่าวไม่อาจยอมรับได้เพราะยิ่งส่งผลให้การแพร่ระบาดทวีความรุนเเรงยิ่งขึ้น” 

ล่าสุดแอมเนสตี้เปิดรายงานใหม่และแคมเปญ “นับถอยหลัง 100 วัน” #100DayCountdown เรียกร้องจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศยากจน 2 พันล้านโดสก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเรียกร้องให้ 6 บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 และประเทศต่าง ๆ ส่งมอบวัคซีนจำนวน 2 พันล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครต้องทนทุกข์ทรมาน และอยู่กับความหวาดกลัวต่อไปอีกหนึ่งปี 

“ในระหว่างที่การจัดสรรวัคซีนยังไม่ทั่วถึง เราขอเชิญชวนร่วมแบ่งปันหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เครื่องวัดอุณหภูมิ และเจลแอลกอฮอล์ หรือสมทบทุนร่วมจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวให้กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ “มานิ” จำนวน 12 กลุ่ม กว่า 500 คนในจังหวัดสตูล ตรังและพัทลุง และเรือนจำ 7 แห่งทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ได้แก่ 1. เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ 2. เรือนจำกลางจังหวัดกาฬสินธุ์ 3. ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร 4. เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 5. ทัณฑสถานหญิงธนบุรี 6. เรือนจำจังหวัดธัญบุรี 7. เรือนจำกลางจังหวัดนราธิวาส”  

ด้าน บิว ณัฏฐา ทองแก้ว Miss Face of Humanity Thailand 2021 เผยว่าได้สร้างแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ Change.org/SaveManiPeople เพื่อเรียกร้องให้ให้สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง สตูลและตรัง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาดไทยจากส่วนกลาง อย่าทอดทิ้งกลุ่มชาติพันธุ์มานิในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19  

โดยในแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ Change.org/SaveManiPeople มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้  

1. จัดสรรงบประมาณ แจกจ่ายอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองให้กับชาวมานิอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากากอนามัย เจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ และอำนวยความสะดวกให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ทันทีเมื่อพบว่าติดเชื้อโควิด-19
2. จัดอาสาสมัครชุมชนเพื่อกระจายความช่วยเหลือ เพื่อลดช่องว่างจากการที่กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้ใช้ภาษาไทย ให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน โดยให้อาสาสมัครลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ในการดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้น
3. จัดทำชุดข้อมูลที่กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ ทั้งเรื่องการป้องกันตัวเองจากการระบาดของโรคโควิด-19 และข้อมูลการเยียวยา และข้อมูลในการรับบริการอื่นๆ จากรัฐ
4. จัดให้มีกระจายและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนแก่กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับทราบ เพื่อเป็นการตัดสินใจในการเข้าถึงวัคซีน 

อยากจะเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคน เพื่อนๆ นางงาม หรือกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคม อยากจะให้ทุกคนมีโอกาสได้เข้าร่วมลงชื่อและช่วยกันแชร์แคมเปญ "อย่าทอดทิ้งกลุ่มชาติพันธุ์มานิในช่วงโควิด" Change.org/SaveManiPeople เพื่อที่จะส่งเสียงของพวกเรา รวมพลังที่จะบอกกับภาครัฐหรือผู้ที่มีอำนาจในการดูแลว่า สิ่งที่เราต้องการในช่วงนี้คืออะไร  

แม้ว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้ การจะเร่งให้ทุกอย่างรวดเร็วอาจจะทำได้ยาก แต่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงได้ก็คือ การที่จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และสิ่งๆ หนึ่งที่ภาครัฐจะติดอาวุธให้พวกเราได้ในฐานะประชาชนทุกคนคือ การนำเข้าวัคซีนให้พวกเราได้รับอย่างทั่วถึงให้มากที่สุด ซึ่งก็หวังว่า แคมเปญรณรงค์ออนไลน์ที่บิวได้ตั้งขึ้นและได้รับความร่วมมือจากพี่น้องคนไทยที่ร่วมกันลงชื่อจะช่วยกันส่งเสียงไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการรับมือกับโรคโควิด-19 ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ควรมีใครที่จะถูกลืมหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ตาม เพราะว่าไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”  

สำหรับโครงการนี้เปิดระดมทุนและรับบริจาคเงินและแบ่งปันอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างทั่วถึง 

ผู้สนใจสามารถจัดส่งอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 มาได้ที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 139/21 ซอยลาดพร้าว 5 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900  หรือร่วมสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการโอนเข้าบัญชี สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 047- 2-42617-5

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112