Back

วัฒนธรรมและประเพณีภายในแคมป์แรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

11 July 2012

1877

วัฒนธรรมและประเพณีภายในแคมป์แรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
แม้ว่ากลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่าจะเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ เพื่อทำการประกอบอาชีพ และลี้ภัยทางการเมือง แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่เคยคิดที่จะลืมความเป็นตัวตนของตนเอง อีกทั้งยังแสดงออกถึงความเป็นตัวตน แม้ว่าจะไม่สามารถแสดงออกได้เต็มที่สักเท่าไรนักก็ตาม ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆที่เห็นได้ชัดเจน เพื่อสะท้อนให้เห็นแบบแผนการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่า ภายในแคมป์แรงงานข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น วัฒนธรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิต หมายถึงวัฒนธรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่า ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ภายในแคมป์แรงงานข้ามชาติ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่าบางคนเกิดและเติบโตที่ประเทศไทย บางคนหลบหนีมากับครอบครัว บางคนมาใช้ชีวิตเป็นแรงงานในไทยจนกระทั่งเสียชีวิต ฯลฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตน เพื่อให้อยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ ไม่ว่าจะเป็น การเกิด แต่เดิมมีการคลอดลูกกันเองภาย ในแคมป์ เพราะกลัวทั้งหมอ และตำรวจทั้งที่เข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันแรงงานข้ามส่วนนิยมที่จะไปคลอดลูกในสถานพยาบาลของภาครัฐ เพราะมีความปลอดภัยกว่า อีกทั้งบุตรที่เกิดมาก็จะได้รับเอกสารการเกิด คือหนังสือรับรองการเกิด และได้รับคำแนะนำที่ดีในการเลี้ยงดูบุตรให้ถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ เมื่อเด็กครบที่จะฉีดวัคซีน ผู้ปกครองกลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่าก็จะพาบุตรหลานของตนไปรับวัคซีนที่ สถานีอนามัยใกล้แคมป์ แม้ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเต็มราคาทุกครั้งก็ตาม การบวช ของกลุ่มคนข้ามแดนมีหลายประเภทด้วยกัน แต่ประเพณีการบวชที่พบเห็นได้ชัดเจน คือประเพณีปอยส่างลอง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยที่เด็กและเยาวชนกลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่า โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มาจากรัฐฉานและเรียกตัวเองว่า “ไทใหญ่” หรือ “ไต” เมื่อถึงเวลาก็จะมีการบวชเณร และเชื่อว่าการบวชเณรหรือการเข้าร่วมประเพณีปอยส่างลองนั้นจะได้รับบุญมาก เมื่อได้บวชก็จะถือว่า ไม่เป็นคนดิบอีกต่อไป คือเป็นผู้อยู่ภายใต้พุทธศาสนานั่นเอง พิธีกรรมต่างๆกลุ่มวัฒนธรรมไทใหญ่ได้ร่วมกับองค์กรเอกชนและภาครัฐ เป็นผู้จัดงาน โดยที่กลุ่มวัฒนธรรมไทใหญ่เป็นผู้จัดงานหลักและประสานงานให้ และมีพ่อแม่ญาติพี่น้องของคนที่จะเข้าพิธีบวชจะร่วมกันจัดขึ้น ตลอดระยะเวลาก่อนเข้าพิธีกรรมบวชเณรประมาณ 3-7 วัน ผู้เป็นพ่อแม่และญาติจะคอยดูแล ส่วนเรื่องของอาหารการกินภายในงานทุกคนจะช่วยกันทำ เป็นอาหารพื้นเมืองของคนไทใหญ่ ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องของการเป็นสิริมงคล เช่น แกงผักกุ่ม น้ำพริกอุก เป็นต้น และในวันสุดท้ายก็จะมีการแห่ปอยส่างลองและเข้าพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อทำ การบวชเณร การแห่ปอยส่างลองของกลุ่มคนข้ามแดนมีความรื่นเริงสนุกสนาน ผู้ที่เป็นส่างลองจะแต่งหน้าแต่งตัวที่สวยงามนั่งบนบ่าหรืขี่คอโยกย้ายไปตาม จังหวะดนตรีพื้นเมือง เสียงกอง ฉาบ ฉิ่ง ฆ้อง ที่ทุกคนต่างร่วมด้วยช่วยกัน ก่อนเข้าไปในอุโบสถเพื่อประกอบพิธีกรรม เมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้น จากนั้นก็จะให้เณรอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3-7 วันเพื่อให้เณรได้รับใช้พระพุทธศาสนาและศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ เมื่อเข้าไปเรียนรู้และร่วมกิจกรรมปอยส่างลอง เมื่อสัมภาษณ์กลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่า ในเรื่องของการดำเนินวิถีชีวิตตามแบบอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของตน ทำให้ทราบว่า กลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่าบางกลุ่มไม่กล้าที่จะเข้าไปร่วมประเพณี เพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปจับกุม กลัวตำรวจ แม้จะรู้ว่าได้กุศลมาก แต่ถ้าถูกจับขึ้นมาก็ไม่คุ้ม นอกเสียจากว่าจำเป็นต้องไปจริงๆ เพราะเป็นลูกหลาน ญาติพี่น้องของเรา ถ้าไม่ไปอาจจะโดนตัดญาติได้ แต่สำหรับบางคนก็จะพาลูกหลานกลับไปบ้าน(รัฐฉาน ประเทศพม่า) เพื่อทำพิธีปอยส่างลอง เพื่อให้ญาติๆทางฝั่งพม่าได้รับบุญกุศลจากการบวชปอยส่างลองนี้ด้วย ที่สำคัญคือภายในงานรื่นเริงและงานบุญขนาดใหญ่ไม่มีการเสพของมึนเมา เมื่อสอบถามก็ได้รับคำตอบว่ามีการออกกฎไม่ให้ดื่ม เพราะการดื่มสุราอาจนำมาซึ่งการทะเลาะวิวาท เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาททางเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะเข้ามา ทำให้งานบุญต้องหยุดชะงักลง และถือว่าบาปมาก การแต่งงาน ส่วนใหญ่กลุ่มคนข้ามแดนที่ มาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ล้วนแล้วแต่มีครอบครัวด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งถ้าวัยหนุ่มสาวที่ที่ยังโสดก็มักจะเลือกคู่ครองที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ เดียวกัน แต่ก็มีหลายคู่ที่แต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ถ้าได้แต่งกับคนที่มีเชื้อสายไทย ถ้ามีลูกด้วยกัน ลูกที่เกิดออกมาก็จะมีสัญชาติไทยโดยทันที ส่วนพิธีแต่งงานนั้นส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปทำพิธียังบ้านเกิดของตนเอง เพราะอย่างน้อยญาติพี่น้องก็จะได้ร่วมเฉลิมฉลองภายในงาน ด้วย                 การตาย หากมีการตายขึ้น ก็จะมีการจัดพิธีศพตามแบบศาสนาพุทธทั่วไป แล้วเก็บกระดูกบรรจุอัฐิไปบำเพ็ญกุศลยังบ้านเกิดของผู้ตาย นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมและประเพณีประจำปีที่พบได้เห็นในจังหวัดเชียงใหม่ ยกตัวอย่างประเพณีปีใหม่ไต ซึ่ง ปีใหม่ไตถือเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของกลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่า โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มาจากรัฐฉาน ซึ่งขนมสำหรับต้อนรับปีใหม่และฉลองแขกได้แก่ “ข้าวต้มแหลม” ที่ถือว่าเป็นขนมมงคล มีความหมาย การสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เสมือนเมล็ดข้าวเหนียวและงาที่ตำบดละเอียดเป็นกลุ่มก้อนอันเดียวกัน และภายในงานจะมีการเฉลิมฉลองมีกิจกรรมการแสดงประจำชาติ เพื่อให้คนที่ร่วมภายในงานรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความรู้สึกเป็นชาติเดียวกัน แม้ว่าการแสดงออกทางวัฒนธรรมจะสามารถบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของตนเองได้ ซึ่งพื้นที่ในการแสดงออกก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะวัฒนธรรมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็น อยู่ของคนในแต่ละพื้นที่ ดังเช่นการแสดงออกทางวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตที่ กลุ่มคนข้ามแดนจากประเทศพม่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือ “คนไทใหญ่” แม้จะไม่ได้เป็นไปตามความต้องการ หรือความพึงพอใจของชนกลุ่มมากนัก แต่การปรับตัวเองให้อยู่รอดในสังคมใหม่ได้อย่างกลมกลืนในยามที่พลัดถิ่นเป็น แนวทางที่สำคัญและจำเป็นต่อความอยู่รอดมากกว่านั่นเอง

About Us

เว็บไทยเอ็นจีโอ สนับสนุนการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์และเผยแพร่แนวคิดวัฒนธรรมเสรี เนื้อหาในเว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอดอทโออาจี ท่านสามารถเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงท่านระบุที่มาและห้ามทำการค้า

ThaiNGO Team

ติดต่อประสานงาน - Contact
Tel : 099-014-3797

ทศพร แกล้วการไร่ : ผู้ดูแลเว็บ - Webmaster
Tel : 080-078-4016

อัฎธิชัย ศิริเทศ : บรรณาธิการ - Editor
Tel : 082-178-3849

Email : webmaster@thaingo.org

Office Hours : Mon-Fri , 9.00-17.00

Contact Info

2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310

2044/23 New Phetchaburi Road, Bangkapi, Huai Khwang, Bankok 10310

+662 314 4112