Back

สุขสันต์ปีใหม่อิสลาม ฮ.ศ.1434 : กิจกรรมท่ามกลางความรุนแรงชายแดนใต้

สุขสันต์ปีใหม่อิสลาม ฮ.ศ.1434 : กิจกรรมท่ามกลางความรุนแรงชายแดนใต้

19 November 2012

1959

Selamat Tahun Baru 1434 Hijriah โดย : อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีวันปีใหม่อิสลาม แด่ผู้อ่านทุกท่านหรือ Selamat Tahun Baru 1434 Hijriah วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ตรงกับวันที่ 1 มุฮัรรอม ฮิจเราะห์ศักราช 1434 ตามปฏิทินอิสลาม นั่นหมายความว่า วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือฮิจเราะห์ศักราชใหม่ ตามปฏิทินอิสลาม http://www.skthai.org/news/331186/ประกาศจุฬาราชมนตรี%20เรื่องกำหนดวันที่%201%20ของเดือนมูฮัรรอมประจำปี%20ฮ.ศ.1434.html สำหรับวิถีวัฒนธรรมของมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตหลายชุมชนสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะมีการอ่านบทขอพรเป็นการส่วนตัวหรือหมู่คณะในมัสยิดของชุมชนเพื่อขอภัยโทษในอดีตที่ผ่านมา และขอความเป็นศิริมงคลในปีถัดไป ถึงแม้หลายชุมชน หรือหลายคนจะไม่ปฏิบัติเพราะถือว่าท่านศาสนฑูต มุฮัมมัด ไม่เคยทำเป็นแบบอย่าง แต่ในช่วงยี่สิบปีก่อนหน้านี้ พบว่า โรงเรียนสอนศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อบรมประจำมัสยิด (ตาดีกา) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จะมีกิจกรรมรำลึกปีฮิจเราะห์ศักราชใหม่อย่างเอิกเกริก ซึ่งมีกิจกรรมมากมายในงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินพาเหรดเชิงสร้างสรรค์ การประกวดกิจกรรมบนเวที กีฬาต่างๆทั้งพื้นบ้านและสากล รวมทั้งการบรรยายธรรมเรื่องคุณค่าและบทเรียนฮิจเราะห์ศักราชใหม่ แต่การฉลองช่วงหกปีหลังก็จะระมัดระวังมากขึ้นซึ่งอาจจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นอุปสรรคต่อการจัดกิจกรรม เพราะความรุนแรงที่นี่ยังเป็นความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังและเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างไรองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดปัตตานีก็ได้จับมือ กับชมรมตาดีกา อบจ. ปัตตานีคณะกรรมการอิสลาม ต้อนรับปีใหม่ร่วมกัน หวังสร้างความเข็งแข็ง เพิ่มความสามัคคีในองค์กร เริ่มปีใหม่ในสิ่งทีดีๆ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2554 ก่อนฮิจเราะห์ศักราชใหม่หลายวัน โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงในงานและวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 แต่ละโรงเรียนสอนศาสนาก็จัดกิจกรรมภายในเพื่อทบทวนการทำงานในปีที่ผ่านมาอย่างเรียบง่ายเช่นกัน ความเป็นจริงฮิจเราะห์ เป็นคำภาษาอาหรับ ตามรากศัพท์แปลว่า การตัดขาด หรือ การเคลื่อนย้าย แต่เมื่อพิจารณาความหมายในทางวิชาการแล้วจะหมายถึง : การละทิ้งสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม หรือ การโยกย้ายจากสถานที่ที่น่าสะพรึงกลัวไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย หรือ การอพยพจากสถานที่อันไม่สามารถแสดงตนเป็นมุสลิมไปสู่อาณาจักรอิสลาม สำหรับหลักการที่เกี่ยวข้องกับการฮิจเราะห์ สามารถทำความเข้าใจได้ดังนี้ (โปรดดู วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ การฮิจเราะห์ในประชาไทออนไลน 8/9/2548 ) 1.ในยุคแรกของอิสลาม การฮิจเราะห์ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิญาณตนเข้ารับอิสลามทุกคน จากเมืองมักกะห์ ไปยังเมืองมาดีนะห์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ใประเทศซาอุดิอาระเบีย ทั้ง นี้เพื่อสร้างประชาคมมุสลิมที่นครมาดีนะห์เป็นมหานครแห่งสันติสุข เนื่องจากประชากรมุสลิมที่นั่นมีน้อย ยกเว้นคนอ่อนแอที่ขาดปัจจัย เช่น คนชรา เด็ก สตรีหรือทาส เป็นต้น 2.ภายหลังการบุกเบิกนครมักกะห์ในปีที่ 8 หลังการฮิจเราะห์ (ของศาสนฑูตมุฮัมหมัด) บทบัญญัติเกี่ยวกับการฮิจเราะห์ ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากสถานการณ์ในมักกะห์เปลี่ยนไป กล่าวคือ การปฏิบัติศาสนากิจใดๆ สามารถทำได้โดยอิสระเสรี การฮิจเราะห์ จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ดังวัจนะของศาสนทูตมุฮัมหมัด ที่บันทึกไว้โดยอิหม่ามบูคอรีย์และมุสลิมความ ว่า “ ไม่มีการฮิจเราะห์อีกแล้ว หลังการบุกเบิกมักกะห์ แต่การณ์ทั้งหลาย ขึ้นอยู่กับการเจตนาและการต่อสู้” (บันทึกไว้โดยอิหม่ามบูคอรีย์และมุสลิม) 3.โดยนัยยะนี้ อิหม่ามชาฟีอีย์ จึงระบุในตำรา “อัลอุม” ของท่านว่า “วัตรปฏิบัติ แห่งบรมศาสนฑูตมุฮัมมัด บ่งชี้ว่า ข้อกำหนดให้ฮิจเราะห์สำหรับผู้ที่สามารถทำได้นั้น เป็นข้อบังคับเหนือผู้ที่ไม่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมอยู่ได้ในแผ่นดินที่ผู้นั้นอยู่อาศัย (ส่วนผู้ที่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมได้อย่างเสรีก็ไม่จำเป้นต้องฮิจเราะห์) เห็น ได้จากที่บรมศาสนฑูตมุฮัมมัดอนุญาตให้ลุงของท่าน คือ อับบาส และคนอื่นๆ อีกหลายคน คงอยู่ในมักกะห์ต่อไป เพราะคนเหล่านี้เข้มแข็งพอที่จะรักษาความเป็นมุสลิมของเขาไว้ได้ ฮาฟิซ อิบนุ หะญัร กล่าวไว้ในตำรา “ฟัตหุล บารี” เล่มที่ 7 หน้า 229 ว่า “โดยนัยนี้ผู้ที่สามารถเคารพสักการะบูชาอัลลอฮฺได้ ในแผ่นดินใดก็ตาม ที่เขาอยู่ เขาไม่จำเป็นต้องฮิจเราะห์ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จำเป็น ” ความเป็นจริงในเดือนนี้หรือเดือนมุฮัรรอมตามศาสนบัญญัตมีวันสำคัญที่สุดคือ วันที่ 10 มุฮัรรอมเรียกวันนี้ว่าวันอะชูรอ สิ่งที่ควรปฏิบัติในวันนี้คือการถือศีลอด ดังปรากฏในรายงานจากอิบนฺ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺกล่าวว่า: ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้เดินทางไปยังนครมาดีนะฮ์ ท่านได้เห็นชาวยิวถือศีลอดในวันอะชูรอ ท่านได้ถามพวกเขาว่า : วันนี้เป็นวันอะไร? พวกเขากล่าวว่า : วันนี้เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เป็นวันที่อัลลอฮ์ทรงให้ศาสนฑูตมูซาและชาวอิสรออีล ได้รับความปลอดภัย และให้ฟิรเอาน์ กับพรรคพวกของเขาจมน้ำ ท่านศาสนฑูตมูซาจึงได้ถือศีลอดในวันนี้เพื่อขอบคุณอัลลอฮ์ ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดได้กล่าวไว้ความว่า : " فأنا أحقُّ بموسى منكم " فصامه وأمَر بِصيامِه . “ฉันนั้นสมควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามศาสนฑูตมูซายิ่งกว่าพวกท่าน ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดจึงถือศีลอด และใช้ให้(มุสลิม) ถือศีลอดด้วย” (บันทึกโดยอัลบุคอรี หมายเลขหะดีษ 2004 ) การถือศีลอดในวันนี้ มีคุณค่าและความประเสริฐมาก ท่านกล่าวไว้ความว่า " أفضل الصيام بعد رمضان شهر الله المحرم، وأفضل الصلاة بعد الفريضة صلاة الليل " “การถือศีลอดที่ประเสริฐสุดหลังจากเดือนรอมฎอนคือการถือศีลอดในเดือนของอัลลอฮ์ อัลมุฮัรรอม และการละหมาดที่ประเสริฐที่สุดหลังจากละหมาดฟัรดู คือละหมาดในยามค่ำคืน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1163 และอัตติรมิซียฺ หมายเลขหะดีส 438 ) แต่นักปราชญ์อิสลามมีทัศนะว่าควรถือศีลอดในวันที่ 9 มุฮัรรอมด้วยเช่นกันเพื่อให้แตกต่างจากชาวยิว ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดได้กล่าวไว้ความว่า " لئن بقيتُ إلى قابلٍ لأصومنّ التاسع " “ถ้าหากว่าฉันยังคงมีชีวิตอยู่ในปีต่อไป ฉันจะถือศีลอดในวันที่9 ด้วย” (บันทึกโดย อะห์หมัด หมายเลขหะดีษ 1736 และมุสลิมหมายเลขหะดีษ 1134 ) ในขณะเดียวกันยังมีมุสลิมจำนวนมากมีค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับเดือนนี้ โดยเข้าใจว่าเป็นเดือนต้องห้าม เพราะคำว่ามุฮัรรอมแปลว่าต้องห้าม จึงห้ามปฏิบัติภารกิจต่างๆที่เคยปฏิบัติในเดือนอื่นๆ เช่น ห้ามจัดพิธีแต่งงาน ห้ามปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงตามหลักศาสนาอิสลาม เดือนมุฮัรรอมเป็นเดือนที่ห้ามการทำสงครามเหมือนเดือนต้องห้าม อื่นๆอีกสามเดือน มิได้ห้ามให้กระทำกิจกรรมอื่นๆ แต่อย่างใด (โปรดดูรายละเอียดใน มุสลิมจะทำอะไรกันดีในเดือนมุฮัรร็อม?โดย ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=26&id=355) ครับแต่อย่างไรก็แล้วแต่ ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ หรือ ฮิจเราะห์ศักราชใหม่ 1434 นี้ ขอให้ทุกคนมีความสุข ได้รับความสิริมงคล และทางนำจากอัลลอฮฺ ที่สำคัญของบทเรียนฮิจเราะห์ตามทัศนะอิสลามคือ การที่ทุกคนจะต้องไม่ลืมทบทวนเรื่องราวในอดีต ปีที่ ผ่านมาหรือ ฮ.ศ. 1433 โดยเฉพาะเหตุการณ์ร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ และความแตกสามัคคีของคนในชาติไม่ว่าภาคไหน แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นผลให้คนเหล่านี้ต้องฉลองปีใหม่ด้วยความสูญเสีย

Recent posts